การก่อสร้างคริสตจักร

ในปี 1902(2445) ศจ.บุญต๋วน บุญอิต ได้เริ่มก่อสร้างคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ ตามข้อเสนอของ ดร.ออเธอร์ บราวน์ เลขาธิการใหญ่ของมิชชั่นบอร์ดจากนิวยอร์คซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมงานในประเทศต่าง ๆ ในระยะนั้นท่านมีความเห็นว่าถ้าราชกิจของ องค์พระผู้เป็นเจ้าจะเจริญก้าวหน้าต่อไปในบางกอกได้นั้นก็จะต้องทำพันธกิจกับเยาวชนรุ่นใหม่ เป็นการสืบเนื่องต่อจากโรงเรียน กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ และกำลังก่อสร้างอาคารใหม่อยู่ในขณะนั้น (หลังจากต้องย้ายจากสำเหร่มา สร้างที่ถนนประมวญ) ซึ่งทุกคนเห็นว่าจะต้องมีคริสตจักรเกิดขึ้นไม่ไกลจากโรงเรียน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโบสถ์ใหม่ อันเป็นที่ตั้งของคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของความเกี่ยวพันและสัมพันธภาพระหว่างคริสตจักร สืบสัมพันธวงศ์และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ศจ.บุญต๋วน บุญอิต เป็นคริสเตียนรุ่นแรก ได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกากับ ดร.ซามูเอล อาร์ เฮ้าส์ เมื่ออายุ 11 ปี ในปี 1876(2419) และสำเร็จการศึกษาจากวิลเลียมคอลเลจ และได้ศึกษาต่อทางด้านศาสนศาสตร์ที่โรงเรียนพระคริสตธรรมออเบิรน์ ในปี 1883(2436) หลังจากท่านได้รับการสถาปนาเป็นศาสนาจารย์ และได้รับการแต่งตั้งเป็นมิชชันนารีจากมิชชั่นบอร์ดแล้ว ท่านก็เดินทาง กลับสยามเพื่อรับใช้พระเจ้า รวมระยะเวลาที่ศึกษาในสหรัฐฯ เป็นเวลา 17 ปี

ศจ. บุญต๋วน บุญอิต ผู้ซึ่งได้รับการเรียกร้องอย่างมากมาย จากคริสเตียนในบางกอกให้เริ่มงานใหม่ตามข้อเสนอของ เลขาธิการใหญ่ดังกล่าวข้างต้นได้ก่อสร้างคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ โดยได้รับการถวายที่ดินเนื้อที่ประมาณ 350 ตารางวา เลขที่ 5 ถนนศรีเวียง ต.บางรัก พร้อมทั้งเงินทุนจำนวนหนึ่งจากพระยาสารสิน สวามิภักดิ์ ซึ่งเป็นมิตรสนิทของท่านเพื่อสร้างพระวิหารโดย ท่านได้ยกที่ดินให้แก่ คณะทรัสตี หรือ มูลนิธิ และขอให้ตั้งนามพระวิหารนี้ว่า “สืบสัมพันธวงศ์” เพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณ “สืบ” ผู้เป็นบุตรชายหัวปีของท่านที่ถึงแก่กรรม ส่วนเงินค่าก่อสร้างที่เหลืออยู่นั้นพี่น้องคริสเตียนไทยในบางกอกได้ช่วยกันถวายทรัพย์จนครบ

ศจ. บุญต๋วน บุญอิต ได้เริ่มต้นงานก่อสร้างพระวิหารทันที โดยท่านเป็นผู้ติดต่อหาทุนและทุ่มเทกำลังในการก่อสร้างในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่การร่างแบบแปลน การคุมการก่อสร้างแม้แต่ลงมือดำน้ำในคลองเพื่อคัดเลือกไม้สำหรับใช้ในการก่อสร้างด้วยตนเองจนเสียชีวิต ด้วยโรคอหิวาต์ท่ามกลางงานก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จ


ในปี 1903(2446) คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ สร้างเสร็จและมีการฉลองพระวิหาร เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 1904(2447) และได้สถาปนาเป็นคริสตจักร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1908(2451) นับว่าเป็นคริสตจักรไทยแห่งแรกในประเทศไทย ที่สร้างและ สนับสนุนดำเนินการโดยคนไทย


อาคารสถานที่ของคริสตจักร

1) หอระฆัง ในบริเวณคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ ได้เริ่มก่อสร้างโดย อาจารย์ญ่วน เตียงหยก ศิษยาภิบาลคนแรกของคริสตจักร ท่านได้ดำเนินการก่อสร้างโดยขอความช่วยเหลือ ทางการเงินจาก คุณหญิงแพ (มารดาของคุณสืบ) และ คุณหญิงได้บริจาคเงินเพื่อสร้างหอ ระฆังเกือบทั้งหมดสมทบกับผู้ถวายเพิ่มเติม จนสามารถสร้างจนแล้วเสร็จ ในการก่อสร้างหอระฆังครั้งนี้ได้เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ของคริสตจักรมีไม่ เพียงพอจึงได้ขอความอนุเคราะห์จากพระยาขบวนบรรณสาร ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ติดกับ คริสตจักร และเนื่องจากท่านเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย สำเหร่ ท่านจึงได้ถวายที่ดินประมาณ 75 เซนติเมตร ตลอดความยาวของคริสตจักรให้แก่คริสตจักร สืบสัมพันธวงศ์ เพื่อที่จะมีเนื้อที่เพียงพอสำหรับการก่อสร้างหอระฆัง

2) ศาลาเปลื้อง สุทธิคำ สร้างในสมัยอาจารย์เปลื้อง สุทธิคำ เป็นศิษยาภิบาล ของคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ ศาลาเปลื้องมีการบูรณะและซ่อมแซมตลอดจนต่อเติมอีก หลายครั้ง ครั้งแรกเป็นศาลาไม้สร้างบริเวณด้านหลังของพระวิหาร ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของคริสตจักร หลังจากนั้น อาจารย์ประสก ชัยรัตน์ ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานธรรมกิจ ของคริสตจักร ได้รื้อถอนศาลาเก่าลง และสร้างศาลาใหม่ขึ้น เป็นลักษณะ 2 ชั้น สร้างด้วย อิฐติดกับบริเวณรั้วด้านหลังของคริสตจักร โดยชั้นบนเป็นห้องทำงานของศิษยาภิบาล และเจ้าหน้าที่ของคริสตจักร ห้องประชุม ห้องอธิษฐาน ส่วนชั้นล่างเป็นห้องโถง มีเวทีอยู่ ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นที่พักอาศัยสำหรับครอบครัวผู้ดูแลคริสตจักร ศาลาเปลื้อง จึงใช้ เป็นศาลาอเนกประสงค์ สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 1956(2499)

ในปี 1985(2528) ได้มีการบูรณะและซ่อมแซมศาลาเปลื้องโดยสร้างห้องน้ำใหม่ด้านหลังเวทีและบูรณะที่พักอาศัยผู้ดูแลคริสตจักร

ในปี 1995(2538) ได้มีการต่อเติมชั้นบนของศาลาเปลื้องอีก 1 ชั้น รวมเป็น 3 ชั้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการศึกษาพระคัมภีร์ และจัดกิจกรรมต่างๆ ของคริสตจักรรวมทั้งบูรณะและซ่อมแซมรั้วของคริสตจักรโดยรอบ มีการปลูกต้นไม้และดอกไม้ ปูอิฐที่สนามด้านข้าง ของคริสตจักร ทาสีพระวิหารและอาคารสถานที่ตลอดจนหอระฆังให้สวยงามมากยิ่งขึ้น

ในปี 1994(2537) มีการก่อสร้างอาคารเพิ่ม โดยสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น อยู่ข้างรั้วทางด้านทิศตะวันออกโดยใช้ชื่อว่า “อาคารอเนกประสงค์สืบสัมพันธวงศ์” ชั้นบนเป็นสำนักงานของคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์และสำนักงานเดิมของคริสตจักรภาคที่ 6 ส่วนชั้นล่างเป็นห้องประชุมโมชดารา พื้นที่เก็บของและส่วนซักล้าง

ใน ปี 1998(2541) ได้มีการสร้างอาคารเพิ่มเติม โดยขยายพื้นที่อาคารสำนักงาน ต่อไปจนถึงรั้วด้านหน้า โดยบริเวณชั้นบนเป็นที่ ทำงานของผู้รับใช้ และชั้นล่างเป็นห้องประชุม ขณะนี้เป็นห้องสมุด และห้องเลี้ยงเด็กเล็ก โดยอาคารนี้มีชื่อว่า “อาคาร ศจ.บุญต๋วน บุญอิต” มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อ วันที่ 4 ตุลาคม 1998(2541)

การบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและหอระฆัง

ในเดือนตุลาคม 2006(2549) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ โบราณวัตถุโบราณสถาน วัด และศาสนสถานที่สำคัญเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี รัฐบาลโดยกรมศาสนาได้จัดสรรเงินให้คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์บางส่วน เพื่อดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารนมัสการและหอระฆัง ร่วมกับกรมศิลปากรโดยกำหนดขอบเขตให้เป็นไปตามรูปแบบรายการ และราย การประมาณการให้ซ่อมแซมฝ้าเพดาน ผนัง ประตู หน้าต่าง ไม้เชิงชาย ไม้ปั้นลม และไม้ฉลุลายชายคาหน้าบัน ตลอดจนงานทาสีตกแต่งผิวเนื่องจากคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ ได้สร้างมา เป็นเวลานาน ประมาณ 105 ปีแล้วและสภาพปัจจุบันมีการซ่อมแซมและต่อเติมมาแล้วเป็นบางส่วน แต่โดยทั่วไปอาคารนมัสการ หรือพระวิหารยังอยู่ในสภาพชำรุดเสียหายมากกว่าขอบเขตตามรูปแบบรายการ และรายการประมาณการที่ ได้กำหนดไว้ ได้แก่งาน กระเบื้องหลังคาพระวิหารซึ่งบางส่วนแตกร้าวและรั่วซึม งานโครงสร้าง TRUSS หลังคา งานฝ้าเพดานไม้ งานปูกระเบื้องซีเมนต์ งานปรับปรุงรางน้ำฝน ฯลฯ และงานปรับปรุงพื้นที่โดยรอบคริสตจักร

ในการบูรณะซ่อมแซมพระวิหารครั้งใหม่นี้ คณะธรรมกิจผู้ปกครองของคริสตจักรให้คงรูปแบบเก็บไว้ให้มากที่สุด เพราะมีความ สวยงามและดูเด่นเป็นสง่าอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ได้ดัดแปลงโครงสร้างแต่ประการใด โดยได้ตั้งงบประมาณในการบูรณะและซ่อมแซม ทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 8.0 ล้านบาท

การบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและหอระฆังได้เริ่ม "เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2007(2550) และเริ่มนมัสการพระเจ้าในพระวิหารที่ ได้บูรณะซ่อมแซมใหม่ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2007(2550) รวมระยะเวลา 8 เดือน" โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสมาชิกของ คริสตจักร จากมิตรสหาย และสถาบันในสังกัดมูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทย ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านที่ได้ร่วมถวายทรัพย์ จนการบูรณะและซ่อมแซมพระวิหารสำเร็จตามวัตถุประสงค์

ในปี 2011/2554 ได้มีการตรวจพบว่าพื้นไม้ภายในพระวิหารผุเป็นบริเวณกว้าง อันเนื่องมาจากอายุของพื้นไม้และความชื้นที่มาจากใต้พระวิหาร ประกอบกับความชื้นได้ลามขึ้นมาที่ผนังของพระวิหาร ซึ่งจากการตรวจสอบของวิศวกร เกรงว่าจะทำให้โครงสร้างผนังก่ออิฐรับน้ำหนักเดิมเกิดความเสียหาย คณะธรรมกิจจึงได้มีมติให้ดำเนินการซ่อมแซม โดยตัดผนังส่วนล่าง (ใต้พื้น) เพื่อหล่อคานคอนกรีตเสริมเหล็กผสมน้ำยากันซืม เพื่อทำหน้าที่เป็นคานตัดความชื้น และยังออกแบบให้สามารถรับน้ำหนักอาคารในกรณีที่ต้องการทำการยกอาคารในอนาคตได้ และได้ทำการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นไม้ภายในพระวิหารทั้งหมด โดยใช้พื้นไม้แดงขนาด 1 1/2"x8" ซึ่งการดำเนิงานทั้งหมด เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2011/2554 จนแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2011/2554 รวามระยะเวลา 5 เดือน ใช้งบประมาณในการบูรณะและซ่อมแซมทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 5.4 ล้านบาท (รวมการปรับปรุงระบบเครื่องเสียงภายในพระวิหาร)

ทุนการศึกษา มูลนิธิสืบสัมพันธวงศ์

เป็นพันธกิจที่มูลนิธิได้ดำเนินการ เพื่อให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษากับพี่น้อง,บุตรหลานคริสเตียนหรือบุตรหลานผู้รับใช้ ได้รับการศึกษา เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประกอบอาชีพและเลี้ยงดูครอบครัว, มีส่วนในการช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม

พันธกิจพ่อแม่อุปถัมภ์

หอพักเด็กคริสตจักรห้วยน้ำขาว อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ ได้เปิดการอบรมศิษยาภิบาลรุ่นที่ 2 ศาสนาจารย์อำพล ดีน้อย ซึ่งเป็นศิษยาภิบาลคริสตจักรห้วยน้ำขาวหนึ่งในผู้เข้าอบรมได้แบ่งปันในครั้งนั้นว่า ท่านตั้งใจจะรวบรวมเด็กกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ใกล้ตำบลบ้านห้วยน้ำขาว มาพักอยู่ที่คริสตจักรห้วยน้ำขาวซึ่งเป็นบ้านของท่านด้วย เพื่อย่นระยะการเดินทางมาเรียน เนื่องจากเด็กบางคนต้องใช้เวลาเดินทางถึงครึ่งวันในการมาโรงเรียน

ระยะเริ่มแรกนั้น มีเด็กนักเรียนเกือบ 20 คน ทางคริสตจักรห้วยน้ำขาวได้จัดทำเพิงให้นักเรียนเหล่านี้พักอาศัย ซึ่งขณะนั้นทางคริสตจักรสืบฯ โดยการนำของ ผป. อนุสรณ์ บุญอิต ได้เดินทางไปเยี่ยมหอพักห้วยน้ำขาว พบว่ามีความยากลำบากทั้งความเป็นอยู่และการคมนาคม ทางคริสตจักรสืบฯจึงจัดตั้ง “โครงการอุดหนุนหอพักคริสตจักรบ้านห้วยน้ำขาว” ขึ้น โดยจัดส่งอาหาร เครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ไปให้เด็กนักเรียน และให้ความช่วยเหลือในรูปการอุดหนุนการศึกษารายบุคคล

เด็กนักเรียนในหอพัก เป็นเด็กกะเหรี่ยงอายุระหว่าง 9-16 ปี เรียนในระดับประถมต้นถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 แม้ว่าเด็กเหล่านี้ได้สิทธิ์เรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่การนำเด็กเหล่านี้มาอาศัยที่หอพักก็มีค่าใช้จ่าย โดยค่าใช้จ่ายในการอยู่ในหอพัก จะมี 2 ฝ่ายร่วมรับผิดชอบ คือ ฝ่ายพ่อ/แม่อุปถัมภ์ ซึ่งคือสมาชิกของคริสตจักรสืบฯ จะรับผิดชอบเป็นเงินปีละ 2,400 บาท(สองพันสี่ร้อยบาทถ้วน) อีกส่วนคือ ครอบครัวของเด็กเหล่านั้น จะส่งผลผลิตของตัวเองเช่น ข้าว พืชผักสวนครัว หรือเงิน เพื่อมาสนับสนุนในการดูแลเด็กค่ายอาสาพัฒนาเพื่อช่วยก่อสร้างอาคารหอพักจนสำเร็จ

2 ปีถัดมา หอพักได้ประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในฤดูแล้ง และได้ขอความช่วยเหลือมายังคริสตจักรสืบฯ อีกครั้งซึ่งทางคริสตจักรสืบฯ ได้ช่วยเหลือโดยจัดค่ายอาสาพัฒนาเพื่อไปติดตั้งแท้งค์เก็บน้ำสำหรับสำรองน้ำไว้ใช้

งานหอพักนี้ได้ผ่านวันเวลาจนถึงปัจจุบัน โดยได้เกิดผลดีกับเด็ก ๆและชุมชนรวมทั้งหอพักเองในหลายด้าน เช่น ดญ. สุธิดา พาดี ซึ่งเป็นเด็กในโครงการหอพักนี้ ได้สำเร็จวิชาครูที่อำเภออมก๋อย กลับมาเป็นครูอนุบาลของโรงเรียนบ้านห้วยน้ำขาวและจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้าประจำหมู่บ้าน ซึ่งได้มีส่วนถวายรายได้ก่อนการปันผล 10 % ให้กับคริสตจักรบ้านห้วยน้ำขาว และเมื่อปี ค.ศ. 2001 อาจารย์อารีวรรณ์ รถติ้ว ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากพระคริสตธรรมกรุงเทพ (BBCS) และกลับมาเป็นเจ้าหน้าที่เต็มเวลาในหอพักแห่งนี้

หอพักแห่งนี้เป็นผลจากเมล็ดพันธุ์ของการพบกันระหว่างศบ.อำพล และคริสตจักรสืบฯ การอุดหนุนประคบประหงมของสมาชิกคริสตจักรสืบฯ แก่เด็กในหอพักและคนที่เกี่ยวข้อง เกิดผลเป็นที่น่าพอใจแก่สังคมและกลุ่มสมาชิกคริสเตียนเป็นอย่างยิ่ง

Go to top.